ทำไม แจ็ค หม่า เล็งดันภาคตะวันออกของไทยเป็น ฮับทางเศรษฐกิจ ด้วย EEC

แจ็ค หม่า แห่ง อาลีบาบา ลงทุนอย่างมหาศาลสำหรับโปรเจคใหญ่ด้วยการสร้าง Hub Logistics บนพื้นที่พิเศษภาคตะวันออกของไทย หรือ ที่เรียกว่า พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีมูลค่าการลงทุนราว 11,000 ล้านบาท และได้เริ่มลงนามไปเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาในการขอซื้อที่ดิน สำหรับแผนพัฒนาก่อสร้าง Smart Digital Hub ในเขตพื้นที่ EEC

ตรงนี้หลายฝ่ายอาจสงสัย ว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรยังไงบ้าง ต่อภาคธุรกิจของไทย แล้วที่สำคัญคือ มันกลายเป็นกระแสข่าวดราม่าบนสื่อต่างๆและทางโซเชียลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อมีรายงานว่า แจ็คหม่าได้ทำการยื่นข้อเสนอใหม่จากเรื่อง Hub Logistics จากเดิมขอเช่าที่ดิน มาเป็นขอซื้อที่ดินแทน ซึ่งที่มาของเรื่องดังกล่าว มาจากการลงนามร่วมกัน (MOU) รวม 4 ฉบับ ระหว่าง เครืออาลีบาบา (Alibaba) กับรัฐบาลไทย เป็นการลงทุนเพื่อวางแผนก่อสร้างโครงการ Smart Digital Hub (2561-2562) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าการลงทุน 11,000 ล้านบาท โดยเริ่มลงนามเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร แล้วในขณะนี้ก็มีแนวโน้มที่ทางเครืออาลีบาบาจะขอเปลี่ยนแปลงข้อเสนอเรื่องการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จากการเช่ามาเป็นขอซื้อที่ดินแทน

เนื่องจากเป็นประเด็นดราม่าในสื่อต่างๆ วันนี้ลองมาเจาะวิเคราะห์ดูกันบ้าง

 

แจ็ค หม่า ขอยื่นข้อเสนอใหม่

ในรายงานต่างๆระบุว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยือนจีน เพื่อเข้าร่วมงาน International China Import-Export ที่จัดขึ้น ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ยังเป็นการไปเพื่อหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทย  และ แจ็ค หม่า ประธานเครืออาลีบาบา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการนำประเทศไทยสู่ Digital 4.0 ตามแผนยุทธศาสตร์ของไทย

อย่างไรก็ตาม การเข้าพบกันครั้งนี้ มีรายงานว่า แจ็ค หม่า ได้ยื่นข้อเสนอใหม่ โดยนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ยังต้องการพัฒนาให้ไทยกลายเป็น Hub Logistics ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมการก่อสร้างศูนย์พัฒนาบุคลากรระหว่างไทย-จีน

สำหรับข้อเสนอนี้ ทางแจ็คหม่า จึงได้ยื่นข้อ “ซื้อที่ดิน” ในประเทศไทย แทนข้อตกลงเดิมที่ให้ “เช่าที่ดิน” 

โดยข้อเสนอซื้อที่ดินดังกล่าว อยู่ที่ 130,000 ตร.ม.

ด้านพื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมายนั้น อาลีบาบาได้บรรลุข้อตกลงกับ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) เพื่อขอเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้เป็นฐานที่มั่นจากภาคตะวันออกของไทย สำหรับพัฒนาเป็นเขตนำร่องทางด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซและ Smart Logistics ต่อไป

ด้านข้อเสนอนี้ ทางทีม EEC และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็รับทราบข้อเสนอใหม่ของอาลีบาบาเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้มีการสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานหาทางร่วมกันเกี่ยวกับข้อเสนอใหม่ดังกล่าวว่าจะสามารถทำได้อย่างไร และมีกฎหมายฉบับใดที่สามารถเปิดช่องทางให้ดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ข้อเสนอดังกล่าว จะสามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดกับกฏหมายของไทย

 

เช่า หรือ ซื้อ ที่ดิน ใครได้ใครเสีย

หากย้อนดูรายงานที่เปิดเผยเกี่ยวกับข้อตกลงเดิมในเบื้องต้น  จะพบว่าทั้งสองข้อเสนอมีจุดดีจุดด้อยที่ส่งผลต่อประเทศไทยและอาลีบาบาที่แตกต่างกันไป สำหรับข้อเสนอใหม่เรื่องยื่นซื้อนี้ เราพอจะสรุปอย่างย่อได้ว่า

ข้อดีสำหรับอาลีบาบาที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ได้สิทธิในที่ดินนั้นๆเป็นของตนเอง

แต่ก็มีข้อด้อยสำหรับอาลีบาบาเช่นกัน ไม่เพียงแค่เม็ดเงินลงทุนที่จะต้องทุ่มไปมหาศาลเท่านั้น ทั้งนี้จะพบว่า “ติดเงื่อนไขสำคัญจาก BOI อยู่หลายประการ”

แม้ว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนของ BOI จะเปิดช่องให้นักลงทุน “สามารถซื้อที่ดินได้” แต่ก็ต้องทำตามเงื่อนไขหลายอย่างที่ BOI กำหนด ซึ่งทางอาลีบาบาจะต้องลงทุนทั้งระบบอย่างมหาศาล

ที่สำคัญคือ “ซื้อได้ แต่ไม่สามารถคืนได้” หากว่าการลงทุนไม่ประสบผล หรือไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

 

เช่าที่ดิน อาจจะดีกว่าสำหรับอาลีบาบาหรือไม่

ตาม พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (BOI) แม้จะให้สิทธิแก่นักลงทุนจากต่างชาติ สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษด้วยการ “เช่า” แต่ก็เป็นระยะเวลานานถึง 49+50 ปี

นั่นหมายถึง กินระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ แล้วที่สำคัญคือ สัญญาเช่ามาพร้อมกับสิทธิพิเศษต่าง ๆ โดยเฉพาะการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเป็นกรณีพิเศษ ยกเว้นการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ได้รับอนุญาตให้สามารถใช้เงินตราต่างประเทศในการชำระค่าสินค้าได้ ไปจนถึงการขอ Visa สำหรับบุคลากรผู้เชี่ยวชาญพิเศษ

สำหรับ เงื่อนไขใน พ.ร.บ. BOI ที่ให้สิทธิในการซื้อ สำหรับนักลงทุนต่างชาตินั้น แม้จะเปิดช่องให้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถดำเนินการได้ หากไม่เข้าเงื่อนไขทั้งหมดภายใต้ พ.ร.บ. รวมถึงต้องเข้ามาเพื่อนำห่วงโซ่ทางธุรกิจทั้งหมดตามแต่ประเภทกิจการนั้น ๆ เข้ามาด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถขอซื่อที่ดินได้

 

สุดท้ายแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ทางอาลีบาบาต้องพิจารณาเงื่อนไข ทั้งนี้ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไป

 

ที่มา : eeco.or.th